
ในสมัยต่อๆ มามีการขุดพบพระรอดอยู่เสมอ แต่มีจำนวนไม่มากนักข้อสังเกตในการขุดพบพระรอด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งพบมากถึงประมาณ ๒๐๐ องค์ บริเวณที่พบพระรอดมักจะมีอิฐโบราณสลับซับซ้อนอยู่โดยรอบพระรอด และพระรอดจะฝังอยู่ในดินหรดาลซึ่งเป็นดินเนื้อละเอียดที่สุด มีสีเหลือง และมีกลิ่นหอมนวลๆ ซึ่งในการสร้างพระรอดสมัยต่อมา ได้นำดินหรดาล ผสมกับเศษพระรอด และพระอื่นๆสร้างป็นพระรอดขึ้นมา เช่น พระรอดครูบากองแก้ว
ตำนานการสร้างพระรอด กล่าวถึงสุกกทันต์ฤษี และวาสุเทพฤษี ประชุมฤษี ๑๐๘ รูป มาชุมนุมสร้างโดยเอาดินบริสุทธิ์จากใจกลางทวีปทั้ง ๕ ตัวยา ๑,๐๐๐ ชนิด เกสรดอกไม้ ๑,๐๐๐ ชนิด และว่าน ๑,๐๐๐ ชนิด มาผสมกันจนละเอียดกดลงในพิมพ์นำไปเผา เสร็จแล้ว
สุกกทันตฤษี วาสุเทพฤษี ได้ทำพิธีปลุกเสกด้วยเวทมนต์อันศักดิ์สิทธิ์และเนื่องจากการสร้างพระรอดจากวัสดุต่างๆ นำมาผสมกัน ดังกล่าวแล้วจึงปรากฏว่าองค์พระ ที่สร้างมีสีหลายสีเนื่องจากส่วนผสมและการเผา จึงได้พบสีต่างๆ ได้แก่ สีเขียว สีเขียวอ่อน สีขาวปนเหลือง สีดำ สีแดงสีดอกพิกุล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแม่พระรอดซึ่งเป็นพระที่สร้างขึ้นด้วยหินศิลาดำอ่อนๆ หน้าตักกว้าง ๑๗ นิ้ว สูง ๓๖ นิ้ว นั่งขัดสมาธิเพชรปัจจุบัน ประดิษฐานไว้ด้านหน้าพระประธานในวิหารวัดมหาวัน โดยชื่อเรียกว่า พระพุทธสักขีปฏิมากรณ์ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปที่พระนางจามเทวีนำขึ้นมาจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) ถือว่า พระพุทธสักขีปฏิมากรณ์องค์นี้ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองหริภุญไชย ลำพูนมาตราบเท่าทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น